ร่วมใจสร้างเด็กไทย สมองไว ด้วยไอโอดีน

โรคขาดสารไอโอดีน เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญปัญหาหนึ่งของประเทศ การที่ประชาชนขาดสารไอโอดีน จะบั่นทอนคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวม ซึ่งมีผลต่อศักยภาพในการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ผู้ที่ได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอ นอกจากจะมีอาการของโรคคอพอกแล้ว ยังมีผลทำให้ร่างกายและสมองเติบโตด้อยลง รูปร่างเตี้ย แคระแกร็น ความฉลาดทางสติปัญญาด้อยกว่าปกติ ถ้าหญิงตั้งครรภ์ขาดสารไอโอดีน ลูกที่คลอดมามีโอกาสปัญญาอ่อน เป็นใบ้ ช่วยตนเองไม่ได้ หรือที่เรียกว่า "โรคเอ๋อ"

ปัจจุบัน พบว่า ประชาชนไทยในทุกภาคของประเทศ ยังประสบปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนในระดับความรุนแรงต่าง ๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งปัญหาดังกล่าว ไม่อาจขจัดให้หมดไปได้ ต้องมีการเฝ้าระวังและควบคุมป้องกันตลอดเวลา เพราะหากประชาชนบริโภคอาหารที่มีสารไอโอดีนไม่เพียงพออย่างต่อเนื่องก็สามารถเกิดโรคขาดสารไอโอดีนได้อีก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
การดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยสามารถลดอัตราการเป็นโรคคอพอกให้ลดต่ำลงมาก ทำให้ความสนใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดน้อยลง การสนับสนุนการดำเนินงานจึงไม่ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนน้อยลงไปมาก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะทำให้โรคขาดสารไอโอดีนกลับมาเป็นปัญหาได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่ทำให้สติปัญญาด้อย สมองพัฒนาได้ไม่เต็มศักยภาพ
 

กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ คือ ICCIDD, UNICEF, WHO ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความชำนาญเกี่ยวกับโรคขาดสารไอโอดีน เพื่อการประเมินผลโครงการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการดำเนินการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ต่อไป

คณะประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติได้เสนอแนะไว้ว่า เพื่อการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนของประเทศมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ควรมีการเฝ้าระวังโรคขาดสารไอโอดีน
โดยการตรวจไอโอดีนในปัสสาวะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงมีครรภ์ หญิงวัยเจริญพันธุ์ และนักเรียนระดับประถมศึกษาทุกปี ข้อมูลที่ได้ต้องนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งข้อมูลเฝ้าระวังโรคขาดสารไอโอดีน และข้อมูลเกี่ยวกับเกลือเสริมไอโอดีน การวิเคราะห์ปัญหาเป็นรายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง จำเป็นที่จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อการแก้ปัญหาอย่างทันเวลา นอกจากนั้น การควบคุมคุณภาพเกลือให้ได้มาตรฐาน และการกระจายให้ครอบคลุมทุกครัวเรือนในทุกพื้นที่ มีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจัง การประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาชน โดยเฉพาะความสำคัญของไอโอดีนดีนต่อสมอง เป็นสิ่งที่จะต้องกระตุ้นเตือนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการศึกษาวิจัยเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้ได้ผลก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำควบคู่กันไป ซึ่งสอดคล้องกับเมืองไทยสุขภาพดี เป็นแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการลดปัจจัยเสี่ยงเชิงพฤติกรรมสุขภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาการเด็กด้านสติปัญญาและอารมณ์ ที่เป็นเป้าหมายการดำเนินงานที่สำคัญเรื่องหนึ่ง
 
เป้าหมายการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความฉลาด ตลอดจนการเจริญเติบโตของเด็กไทย ให้เต็มศักยภาพ โดยขจัดปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนให้หมดไปจากประเทศไทย
1. ให้มีการผลิตเกลือที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน (>30 ppm) ณ สถานประกอบการ ให้มีอย่างน้อยร้อยละ 80 ของการผลิตทั้งหมด
2. เกลือบริโภคเสริมไอโอดีนในระดับร้านค้าและครัวเรือน มีคุณภาพได้มาตรฐาน (อย่างน้อย 30 ppm) อย่างน้อยร้อยละ 70

3. การกระจายเกลือเสริมไอโอดีน ครอบคลุมครัวเรือนอย่างน้อยร้อยละ 75

4. อัตราคอพอกในนักเรียนระดับประถมศึกษา ต้องไม่เกินร้อยละ 5

5. อัตราการขาดสารไอโอดีน ระดับปานกลางและระดับรุนแรงรวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 20 (ใช้มาตรการ ตรวจวัดไอโอดีนในปัสสาวะ ในเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาและหญิงตั้งครรภ์)

6. ความครอบคลุมการใช้เกลือเสริมไอโอดีน ในโรงเรียนที่มีอย.น้อย และโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพอย่างน้อยร้อยละ 75

 

กิจกรรมการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน
1. ส่งเสริมให้มีการผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพ ให้เพียงพอ และทั่วถึงสำหรับประชาชนทุกพื้นที่ ได้บริโภคอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง

โดยพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพการผลิตเกลือในสถานประกอบการทุกระดับ โดยใช้ชุดตรวจสอบภาคสนาม ชุด I-KIT/I-Reagent ซึ่งเป็นชุดสำเร็จรูป ใช้ได้ทั้งในห้องปฏิบัติการและภาคสนามที่อ่านค่าได้จริงใช้แทนวิธี titration ได้ รวมทั้งจัดให้มีการสำรวจของ อย.น้อย
2. จัดระบบการเฝ้าระวังโรคขาดสารไอโอดีนและมาตรการควบคุมป้องกัน โดยทำการสำรวจโรคคอพอกในนักเรียนระดับประถมศึกษาทั่้วประเทศทุกคน ปีละ 1 ครั้ง และจัดทำระบบเฝ้าระวังโรคขาดสารไอโอดีน โดยใช้มาตรการ ไอโอดีนในปัสสาวะเป็นตัวชี้วัดหลัก และมีตัวชี้วัดอื่นที่เหมาะสม
3. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

ขณะนี้ประชาชนมีความรับรู้เรื่องคอพอกมากกว่าผลทางสติปัญญา ฉะนั้นจึงต้องมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างกระแสและความตระหนักแก่ประชาชนไทยโดยรวม ในเรื่องความสำคัญของสารไอโอดีนกับสมอง และการพัฒนาการทางร่างกายและ IQ อย่างเต็มศักยภาพ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าคอพอก

จะต้องช่วยกัน เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กไทย ได้รับการป้องกันจากภาวะสติปัญญาด้อย