การดำเนินงานควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนของไทย
ประเทศไทยได้มีรายงานภาวะการขาดสารไอโอดีนครั้งแรก เมื่อปีพ.ศ.2496 พบว่าประชากรจำนวนมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นโรคคอพอกจากการขาดสารไอโอดีน ในปี พ.ศ.2498 พบว่า ที่จังหวัดแพร่ มีเด็กในวัยเรียน เป็นโรคคอพอกสูงถึงร้อยละ 90
กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มโครงการเสริมไอโอดีนลงในเกลือ และจำหน่ายให้ประชาชนในภาคเหนือเพื่อบริโภค เมื่อปี 2508 และได้สำรวจซ้ำในปี พ.ศ.2512 พบว่า อัตราการเป็นคอพอกในเด็กวัยเรียน ของจังหวัดแพร่ลดลงครึ่งหนึ่ง กรมอนามัย จึงได้ร่วมกับภาคเเอกชน ตั้งโรงงานผลิตเกลือเสริมไอโอดีน ด้วยกำลังผลิตปีละ 20,000 ตัน แต่พบว่าสามารถครอบคลุมพื้นที่ที่มีการระบาดได้เพียงร้อยละ 12 เท่านั้น

ปี พ.ศ.2530 กองโภชนาการ กรมอนามัย ได้ทำการสำรวจพื้นที่ 14 จังหวัดภาคเหนือ และจังหวัดเลย ซึ่งถูกระบุว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขต Goiter belt พบว่าอัตราคอพอกของเด็กนักเรียนสูงถึงร้อยละ 12 ต่อมาในปี พ.ศ.2531 สำรวจในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง จำนวน 65 อำเภอ ใน15 จังหวัดดังกล่าว พบอัตราคอพอกสูงถึงร้อยละ 43

ระหว่างปลายปี พ.ศ.2532-2533 กรมอนามัยได้ทำการสำรวจพบว่า พื้นที่ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงภูเขา ห่างไกลจากทะเล ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทุกจังหวัด จังหวัดอุทัยธานี และภาคกลางบางจังหวัด มีอัตราคอพอกร้อยละ 28 - 40

ปี พ.ศ.2536 ได้ขยายพื้นที่สำรวจเติ่มอีก 14 จังหวัดในภาคใต้ และภาคกลาง พบว่า มีบางพื้นที่มีคอพอกมากกว่าร้อยละ 10 และปี พ.ศ. 2538 ได้ขยายพื้นที่ดำเนินการ ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ 
โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ เริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2532
กองโภชนาการ กรมอนามัย ได้จัดตั้งโครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนขึ้นในปี พ.ศ.2532 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับเป็นองค์ประธาน
การดำเนินงานในระยะที่ 1 (พ.ศ.2532-2538)
กลยุทธ์หลักที่ใช้ในการดำเนินงานคือการใช้เกลือเสริมไอโอดีน โดยการรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนบริโภคเกลือเสริมไอโอดีน และใช้น้ำเสริมไอโอดีนเป็นมาตรการเสริม และได้ออกประกาศกระทรวง ฉบับที่ 153 เมื่อ พ.ศ. 2537 เรื่องเกลือบริโภค จะต้องมีปริมาณไอโอดีนไม่น้อยกว่า 30 ppm (30 มิลลิกรัมต่อเกลือบริโภค 1 กิโลกรัม) 
การดำเนินงานในระยะที่ 2 (พ.ศ.2538-2543)
กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับสภากาชาดไทย ร่วมกันดำเเนินงานตามโครงการ ควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน โดยการรณรงค์ส่งเสริม ให้บริโภคเกลือเสริมไอโอดีนแทนเกลือธรรมดา และได้มีเกลือเสริมไอโอดีนพระราชทานสู่ครัวไทย ส่งเสริมให้มีการผลิตเกลือเสริมไอโอดีนเพิ่มขึ้น และจัดประชุมสัมมนาในกลุ่มผู้ผลิตเกลือ นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีมหกรรมอาหารไทยใส่เกลือไอโอดีน ในปีพ.ศ.2540 ทีมจากสภาควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติ (ICCIDD) มาประเมินความก้าวหน้าของโครงการฯ
ต่อมาในปี 2543 ได้เิริ่มปีแรกการประเิิิมินผลโครงการฯ โดยใช้การตรวจวัดระดับปัสสาวะของหญิงมีครรภ์ ใน 15 จังหวัด เป็นดัชนีชี้วัด และในปีเดียวกันนี้ นักวิทยาศาสตร์ไทยได้ประดิษฐ์ชุดตรวจสอบภาคสนามสำหรับไอโอดีนในเกลือ(I-KIT)ขึ้น
การดำเนินงานในระยะที่ 3 (พ.ศ.2543-2548)
โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนก้าวเข้าสู่การดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน โดยจัดให้มีระบบเฝ้าระวังความชุก แนวโน้มการเกิดโรค และความรุนแรงของโรค รวมทั้งจัดให้มีระบบควบคุมและติดตามคุณภาพเกลือเสริมไอโอดีน นอกจากนี้ได้ส่งเสริมให้มีการเสริมไอโอดีนในอาหารหลากหลายชนิด เพื่อสร้างทางเลือกให้กับประชาชน และจัดให้วันที่ 25 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันไอโอดีนแห่งชาติ
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
  • อัตราคอพอกลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.3 ในปี พ.ศ.2546
  • ความครอบคลุมการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในระดับครัวเรือนเพิ่มขึ้น
    • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการใช้เกลือเสริมไอโอดีนต่ำสุด
    • ในปี พ.ศ.2546 มีเกลือไอโอดีนที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน คือมีไอโอดีนอย่างน้อย 30 ppm เพียงร้อยละ 50.6 เท่านั้น
  • ค่าเฉลี่ยปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงมีครรภ์ลดลงเล็กน้อย ในปี พ.ศ.2546
    • ร้อยละ 47 ขาดไอโอดีนรุนแรง
    • ร้อยละ 8.7 ขาดไอโอดีนปานกลาง
    • ร้อยละ 15.8 ขาดไอโอดีนเล็กน้อย