น้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต  เป็นตัวกลางของกระบวนการต่างๆในสิ่งมีชีวิต  อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากมายเพราะโลกของเราประกอบด้วยน้ำ  3  ใน 4 ส่วน วัฏจักรของน้ำจึงนับว่ามีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างมาก

การเกิดวัฎจักรของน้ำตามธรรมชาติแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน

1. การระเหย  (evaporation)
         หมายถึง การที่น้ำในแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ ทะเล และมหาสมุทร ฯลฯ   กลายเป็นไอเมื่อได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์

2. การควบแน่น  (condensation)
         หมายถึง การที่ไอน้ำในบรรยากาศเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวในรูปของเมฆเมื่อได้รับความเย็น

3. การเกิดฝนตก  (precipitation)
         หมายถึง ปรากฏการณ์ของการเกิดการรวมตัวของน้ำในอากาศ  เกิดเป็นฝนและหิมะตกสู่พื้นโลก ซึ่งส่วนใหญ่ตกลงสู่พื้นที่มหาสมุทร นอกจากนั้นตกลงมาในรูปของฝนและหิมะและบางส่วนก็ซึมลงดินและไหลลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ

4. การรวมตัวของน้ำ  (collection)
          หมายถึง การที่น้ำไหลรวมกันสู่แหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ ทะเล หรือ มหาสมุทร ที่เป็นแหล่งอุปโภคและบริโภคของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ต่อไป

 

  รูปที่ 1.15 วัฎจักรน้ำ

การทดลองศึกษาวัฏจักรน้ำ
     อุปกรณ์และเครื่องมือ
           • ดินจากธรรมชาติ
           • กล่องพลาสติก
           • ตะเกียงหรือแสงแดด
           • แผ่นฟิล์มใส
           • ถุงน้ำแข็ง

 

รูปที่ 1.16 การทดลองศึกษาวัฎจักรน้ำ

วิธีการทดลอง
           1. นำดินใส่กล่องพลาสติกที่เตรียมไว้และปิดด้วยแผ่นฟิล์มใสให้สนิท
           2. นำภาชนะดังกล่าวตั้งภายใต้ตะเกียงหรือตากแดดประมาณ 1 สัปดาห์
           3. จากนั้นนำถุงน้ำแข็งตั้งไว้บนภาชนะ
           4. สังเกตผลการทดลองที่ได้  กล่าวคือความชื้นจากดินเมื่อได้รับความร้อนจากตะเกียงจะเกิดการระเหยไปติดที่แผ่นฟิล์มและเมื่อนำถุงน้ำแข็งมาวางไว้ด้านบน   ไอน้ำที่สัมผัสกับความเย็นจะเกิดการรวมตัวควบแน่นเป็นหยดน้ำหยดลงมา